ประวัติความเป็นมา
ผ้าทอเกาะยอ เป็นผ้าทอพื้นเมืองของตำบลเกาะยอ
อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นผ้าพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสงขลา
ที่มีความประณีตและสีสันที่สวยงาม โดยมีการทอยกดอกที่มีลวดลายอ่อนนุ่ม
ถือเป็นสัญลักษณ์หัตถกรรมพื้นบ้านของภาคใต้และยังเป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
OTOP ปี 2549
ซึ่งไม่มีหลักฐานปรากฏเป็นที่แน่ชัดว่าชาวเกาะยอเริ่มทอผ้ากันแต่เมื่อใด
ทราบแต่ว่าชาวเกาะยอรู้จักการทอผ้ามาแล้วนับร้อยๆ ปี
ตั้งแต่ครั้งที่มีคนอพยพมาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่บนเกาะ
และมีการสอนสืบต่อกันภายในครัวเรือนเรื่อยมา
ปรากฏว่ามีเพลงกล่อมเด็กเก่าแก่หลายบทที่แสดงให้เห็นถึงค่านิยมและวัฒนธรรมการทอผ้าของชาวเกาะยอ
ซึ่งคนเฒ่า คนแก่บนเกาะเล่าว่าเขาได้ฟังเพลงกล่อมเด็กเหล่านี้มาจากยายอีกทีหนึ่ง
นอกจากนั้นยังมีปริศนาคำทายเกี่ยวกับเครื่องมือทอผ้าด้วย เพลงกล่อมเด็กเก่าแก่หลายบทที่แสดงให้เห็นถึงค่านิยมและวัฒนธรรมการทอผ้าของชาวเกาะยอ
เช่น
"โลกสาวเหอ โลกสาวชาวบ้านนอก
นั่งอยู่โรงนอก คือดอกดาววิง
ทอโหกทอฝ้าย ทำได้ทุกสิ่ง
คือดอกดาวริง
ทุกสิ่งน้องทำ...เหอ..ได้"
เอกลักษณ์ของผ้าทอเกาะยอ
ผ้าทอเกาะยอส่วนมากทอมาจากเส้นใยฝ้าย
มีเนื้อแน่น ลวดลายไม่ซับซ้อน เป็นลวดลายที่เกิดจากการขิด
โดยการทอด้วยมือและแบบเหยียบตะกอแยกเส้นยืนขึ้น-ลง
ทำให้เกิดลายตารางคล้ายกับผ้าขาวม้า นิยมใช้ทำผ้าโสร่งและผ้านุ่ง
โดยมีจุดเด่นของผ้าทอเกาะยอจึงอยู่ที่มีลายในเนื้อผ้าที่นูนขึ้นมา
มีลายเส้นละเอียดสวยงามและมีความคงทน เนื้อผ้าดูแลรักษาง่าย
ลายตารางที่มีขนาดเล็กซ้อนๆกัน ทอด้วยด้ายสองสี เช่น สีขาว-แดง สีขาว-แดงแซมดำ
สีขาว-แดงแซมเหลือง จึงมักเรียกผ้านี้ว่า “ผ้าลายราชวัตร”
กรรมวิธีการผลิต
วัตถุดิบ
สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่
2 จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกฝ้ายชนิดสีขาวและสีกากีขึ้นใช้ในการทอผ้า
แต่ปัจจุบันชาวบ้านไม่นิยมปลูกเนื่องจากฝนตกชุกเกินไป ทำให้ใยฝ้ายไม่ดี เปื่อย
และเสียง่าย ปัจจุบันจึงนิยมซื้อวัสดุสำเร็จรูป พวกเส้นใยสังเคราะห์
พวกโพลีเอสเตอร์ และเรยอง จากประเทศญี่ปุ่นและอิตาลี ชาวบ้านเรียกว่า “เส้นด้ายโทเร”
ด้ายและไหมก็ยังคงเป็นวัสดุที่ใช้ในการทออยู่แต่นิยมไหมเทียมเพราะคงทนถาวรกว่าและไม่ยับง่าย
เครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต
เครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้าเกาะยอแต่เดิมใช้กี่มือหรือที่ชาวบ้านในภาคใต้เรียกว่า
" เก " " กี่ " หรือ " หูก "
ซึ่งพัฒนามาจากหลักการเบื้องต้นที่ต้องการให้มีการขัดลายกันระหว่างด้ายเส้นยืนกับด้ายเส้นพุ่งเป็นจำนวนมากเพียงพอพอที่จะทำให้เกิดเป็นผืนผ้าขึ้นได้
โดยเครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้า
ปัจจุบันเรียกเครื่องมือที่ใช้ทอผ้าเกาะยอว่า "กี่กระตุก"
โดยเครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้าประกอบด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ 2 ส่วน ดังนี้
1 อุปกรณ์การเตรียมด้าย ประกอบด้วยส่วนต่างๆ คือ ดอกหวิง (หรือดอกสวิง)
ไน หลอดค้น (หรือลูกค้น) รานค้น หลักค้น ฟืม ตะขอเกี่ยวด้าย (เบ็ดเข้าฟืม) เครื่องรองตอนเข้า ฟืม ลูกหัด (หรือระหัด) เพื่อส่งด้ายเวลาทอ ไม้นัด มีไว้เพื่อกรอไม้ขัดด้ายหรือไม้ค้ำ และเครื่องม้วนด้าย
2 เครื่องทอผ้าหรือกี่
เป็นโครงสร้างที่ใหญ่ของเครื่องมือที่ใช้ทอทั้งหมด ประกอบด้วย
ฟืม (ฟันหวี) เข้าหูก
(ตะกอหรือตระกอ) กระสวย รางกระสวย ไม้แกนม้วนผ้า หลักม้วนผ้า ผัง คานเหยียบ
(ตีนเหยียบ) สายกระตุก (เชือกดึง) ด้ายยืน
หลอดด้ายพุ่ง
ระหัดถักด้าย ผังและเครื่องมืออื่นๆ ที่แยกจากเครื่องทอผ้า มีไนปั่นด้าย ใช้สำหรับด้ายเข้ากระสวย
และกงล้อปั่นด้าย ใช้สำหรับปั่นด้ายยืนเข้าระหัดถักด้าย
ขั้นตอนของการทอผ้า
1.
การเตรียมเส้นด้ายยืน ประกอบด้วยกรรมวิธีต่างๆคือก่อนจะทอผ้า
ช่างจะต้องนำด้ายริ้วที่เป็นใจ นำไปกรอเข้าหลอดเพื่อสำหรับงานโดยเฉพาะ
เมื่อสอดด้ายเข้าพิมพ์เสร็จแล้วก็นำไปขึงบนกี่สำหรับเก็บตะกอหรือร้อยตะกอต่อไป
2.
การเตรียมเส้นพุ่ง เริ่มจากการที่ช่างทอกรอด้ายที่จะใช้เป็นด้ายพุ่งเข้ากระสวยแล้วนำกระสวยแต่ละสีไปใส่ในรางกระสวย
3. ลำดับขั้นการทอในกี่กระตุก
สับตะกอให้ด้ายยืนแยกออกจากกัน โดยมีที่เหยียบอยู่ข้างล่าง (ใช้เท้าเหยียบ)
เป็นการเปิดช่องว่างสำหรับด้ายพุ่งผ่านเข้าไปได้
ใช้มือพุ่งกระสวยด้ายให้สอดไปตามระหว่างด้าย โดยมีช่องสอดกระสวยซึ่งทำด้วยไม้
ปล่อยเท้าที่เหยียบเครื่องบังคับตะกอ เพื่อให้ด้ายพุ่งรวมเป็นหมู่เดียวกันตามเดิม
กระทบฟันหวีโดยแรง ฟันหวีจะพาด้ายพุ่งให้เข้ามาชิดกันเป็นเส้นตรง
เหยียบที่บังคับตะกออีกครั้งหนึ่ง
ลวดลาย...เส้นสายผ้าเกาะยอ
ลวดลาย...เส้นสายผ้าเกาะยอ
ผ้าทอเกาะยอ
ทอจากฝ้าย และขึ้นลายตามแบบที่นิยมกันมา นับแต่อดีต
ลายซึ่งทอกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ คือ ลายราชวัตร และผ้าเก็บดอก เช่น ลายดอกพิกุล
ลายคชกริช ลายดอกพยอม ในอดีตชาวบ้านทอผ้าโดยไม่ทราบชื่อลาย
แต่ใช้วิธีการเรียกชื่อกันอย่างง่าย ๆ อาศัยจดจำวิธีการ ต่อมาเมื่อมีการพลิกแพลงสร้างลวดลายใหม่
ๆ จึงมีการตั้งชื่อลายตามผู้คิดลาย เช่น ลายโกเถี้ยม และเริ่มเรียกชื่อลาย
ตามลักษณะพืชพันธุ์ที่ดูคล้ายคลึงกับลายผ้า อาทิ ลายดอกขี้ไก่
ในปัจจุบันเกิดลวดลายใหม่ๆ ของผ้าทอเกาะยอถึง 58 ลาย
![]() |
ลายราชวัตร |
ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์:http://www.kohyortextile.com/history.php
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น